National Health Security Office (NHSO) District 5, Ratchaburi
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีขาว 
  • แสดงผลสีแบบปกติ 
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีเหลือง 
  • larger 
  • default 
  • smaller 
  • เปลี่ยนการแสดงผล

    เปลี่ยนภาษา

ประชาสัมพันธ์

สปสช.ชื่นชม รพ.หลวงพ่อเปิ่น อีกหนึ่ง รพ.ชุมชนที่รับส่งต่อฟื้นฟู IMC ทันที หลังจาก พ้นภาวะวิกฤติ ช่วยผู้ป่วยด้วยการแพทย์ผสมผสานแพทย์แผนไทย- แพทย์จีน กลับมาสู่ปกติได้ ภายใน 6 เดือน

 สปสช.ชื่นชม รพ.หลวงพ่อเปิ่น อีกหนึ่ง รพ.ชุมชนที่รับส่งต่อฟื้นฟู IMC ทันที หลังจาก พ้นภาวะวิกฤติ ช่วยผู้ป่วยด้วยการแพทย์ผสมผสานแพทย์แผนไทย- แพทย์จีน กลับมาสู่ปกติได้ ภายใน 6 เดือน

เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม เยี่ยมชมการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลาง(Intermediate Care : IMC) ที่พ้นระยะวิกฤตด้วยการบริการกายภาพบำบัด ผสมผสานศาสตร์การแพทย์แผนไทย – แพทย์จีน อย่างเต็มระบบของโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น จังหวัดนครปฐม ลดโอกาสความพิการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายแพทย์พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 5 ราชบุรี ลงพื้นที่โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลาง (Intermediate Care : IMC) ด้วยการกายภาพบำบัด บริการแพทย์แผนไทย - แพทย์แผนจีน ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายแพทย์วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม นายแพทย์วทัญญู ตั้งศิริอำนวย นายแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลนครปฐม นายแพทย์ยุทธกรานต์ ชินโสตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บุคลากรแพทย์ ให้การต้อนรับ
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care) หรือการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกผ่านพ้นวิกฤติและมีอาการคงที่ แต่ยังคงมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วนอยู่ หรือมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยทีมสหวิสาขาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง จนครบ 6 เดือน ตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนถึงบ้านและชุมชน โดยบุคลากรทางสุขภาพและสหวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด หรือ พยาบาล เพื่อเพิ่มสมรรถนะร่างกาย จิตใจในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและลดความพิการหรือภาวะทุพพลภาพรวมทั้งกลับสู่สังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ
นพ.ยุทธกรานต์ ชินโสตร ผอ.โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันในปี 2566 มีการให้บริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลันผสมผสาน ด้วยการกายภาพบำบัด บริการแพทย์แผนไทย – แพทย์แผนจีน มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูของโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น ตรวจในวันพุธทุกสัปดาห์ มีผู้เข้ารับบริการทั้งในและนอกพื้นที่ ทั้งระบบผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และบริการดูแลในชุมชน จำนวน 132 ราย มีการจัดบริการ IMC (Intermediate Care) เนื่องจากโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นนำมาซึ่งผู้ป่วย Stroke เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่เข้าระบบการฟื้นฟู IMC ด้วยการแพทย์ผสมผสานหากเข้าถึงการฟื้นฟูได้เร็ว และในระยะเวลาที่เหมาะสม จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก โดยเน้นกลุ่มโรคสำคัญคือ โรคหลอดเลือดสมองและสะโพกหักชนิดไม่รุนแรง (Stroke,TBI,SCI,Fracture Hip) ซึ่งโอกาสทองของการฟื้นฟูอยู่ในช่วง 6 เดือนแรกเท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วย มีเงื่อนไขที่จะขอเข้ารับบริการ ดังนี้ 1) แพทย์ประเมินว่าสภาวะทางการแพทย์คงที่ สามารถเข้ารับบริการฟื้นฟูได้ 2) มีญาติ/ผู้ดูแลขณะรับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คน 3) มีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลนครปฐม
“โรงพยาบาลให้บริการห้องพักค้างสำหรับผู้ป่วยและญาติ สำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน หลังจากพ้นระยะวิกฤติ ซึ่งเปิดให้บริการในปี 2566 รองรับได้ 26 เตียง(ห้องพักเดี่ยว 18 ห้อง,ห้องพักรวม 4 เตียง จำนวน 2 ห้อง) พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก ออกแบบเพื่อเตรียมการฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จัดแผนการรักษาให้ได้ฟื้นฟูสภาพแบบครบวงจร ด้วยศาสตร์การแพทย์ผสมผสาน ใช้กระบวนการรักษาฟื้นฟูแบบเข้มข้น วางโปรแกรมตามภาวะเจ็บป่วยเฉพาะบุคคลจากผู้เชี่ยวชาญ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน บางรายต้องมีการให้บริการฝึกกิจวัตรประจำวันในบ้านจำลอง ที่ได้สร้างขึ้นให้ผู้ป่วยได้ฝึกจำลองการใช้ชีวิตจริง “ ผอ.รพฯกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้ป่วย IMC เริ่มเคลื่อนย้ายตัวเองได้ มีการประเมินความพร้อมทางใจที่จะรับสภาพร่างกายที่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ตั้งแต่ การฝึกใช้มือหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ ฝึกการนั่ง การนอน การเข้าห้องน้ำ การทำงานบ้าน บางรายอาจต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต หากอยู่ในบ้านคนเดียว จะต้องดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ต้องฝึกการจัดการกับตัวเองให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพื่อจะอยู่ในสังคมให้ได้ โดยมีโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพ ปกติจะจัดตารางการฟื้นฟูวันละ 2-3 ชั่วโมงทุกวัน ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในถึง 2-3 สัปดาห์ มีที่พักค้างระหว่างการรักษา ที่ให้บริการผู้รับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ประกันสังคม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ
ผอ.รพ.หลวงพ่อเปิ่นกล่าวว่า โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นมีความโดดเด่นเรื่องการฟื้นฟูโดยเฉพาะ มีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่และอุปกรณ์ ผลลัพธ์การพัฒนาความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน ติดตามจนครบ 6 เดือน ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ประสิทธิผลการรักษาอยู่ในช่วง ร้อยละ 80-95
 
 
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผลการดําเนินงานการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care) ปีงบประมาณ 2566 ผลการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง ข้อมูล sent date ถึงเดือนกันยายน 2566 พบว่ามีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จัดบริการและเบิกจ่ายงบ IMC รวม 944 แห่ง กระจายทั่วทั้งประเทศ มีผู้ป่วยที่ได้รับบริการ รวม 37,987 คน มีบริการเกิดขึ้น 182,977 ครั้ง เฉลี่ย 4.81 ครั้งต่อคน และ สปสช.จ่ายชดเชยแล้ว 94,566,660 บาท เมื่อพิจารณาผู้ป่วยรายกลุ่มโรคที่เข้าสู่การดูแลระยะกลางในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และบริการที่จัดขึ้นส่วนใหญ่คือบริการกายภาพบำบัด ผู้ป่วย IMC ได้รับบริการกายภาพบำบัดรวมทั้งสิ้น 158,270 ครั้ง บริการกิจกรรมบำบัด 23,903 ครั้ง บริการแก้ไขการพูด 314 ครั้ง และในจำนวนนี้เป็นการจัดบริการนอกหน่วยบริการที่บ้านกรณีผู้ป่วยมีอุปสรรคในเรื่องการเดินทางทั้งสิ้น 64,938 ครั้ง กรณี จังหวัดนครปฐม มีหน่วยบริการได้ให้บริการทุกแห่ง ผู้ป่วยนอกให้บริการ 437 คน 3,065 ครั้ง ชดเชยแล้ว 1,331,870 บาท ผู้ป่วยใน 67 คน ชดเชยแล้ว 1,104,738.90 บาท ทั้งนี้ เบิกจากการให้บริการผู้ป่วยในกลุ่มโรคอื่นๆ และกลุ่มโรค Stroke รวม 42,491,420 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน สปสช.1330 ได้ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการกล่าว
นอกจากนี้คณะเลขาธิการ สปสช.ลงเยี่ยมบ้านจำลอง ที่ฝึก คนไข้ IL อยู่ใน รพ. และผู้ป่วย IMC จากรพ.กลับไป พักฟื้นที่บ้าน ใน ต.นราภิรมย์ ภายใต้การดูแลของรพ.หลวงพ่อเปิ่นด้วย